วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พลิกวิกฤติกับแนวคิดการทำงานแบบเครือข่ายหนองหญ้าไซ

พลิกวิกฤติกับแนวคิดการทำงานแบบเครือข่ายหนองหญ้าไซ
พญ.สมพิศ จำปาเงิน
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองหญ้าไซ
จ.สุพรรณบุรี
โรงพยาบาลหนองหญ้าไซ ผ่านปัญหาวิกฤติทางการเงินมาได้ ด้วยการคงไว้ซึ่งคุณภาพทางด้านการบริการ ด้วยการใช้การจัดการเชิงกลยุทธ์ในการผ่อนแรงและเสริมพลังการทำงาน และใช้แนวคิดการทำงานแบบเครือข่ายที่เชื่อมโยง ร้อยรัด เอาความพยายามและการดำเนินงานของภาคส่วนต่าง ๆ ด้วยการร่วมรับรู้ ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ติดตามประเมินผล ตัวอย่างเช่น
  • คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาโรงพยาบาล แม้ชื่อเป็น คณะกรรมการ แต่การรวมตัวกันทำงานที่มีรูปแบบคล้ายเครือข่าย ประกอบด้วย องค์กรภาครัฐ ผู้นำทางศาสนา ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น คหบดี ตัวแทนชมรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลงานที่โดดเด่นคือ โครงการก่อสร้างตึกสงฆ์ที่ต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างและอุปกรณ์รวม 16 ล้านบาท ร่วมกันระดมทุนในรูปเงินบริจาคเข้ากองทุน ภายในระยะเวลา 3 ปี โครงการนี้จึงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
  • เครือข่ายองค์กรภาครัฐ รวมตัวกันเพื่อการพัฒนาองค์กร
    ภาครัฐเพื่อการบริการที่ดีมีคุณภาพยิ่งขึ้น ด้วยการทำกิจกรรม 5 ส. ทั้ง 14 หน่วยงานส่วนราชการอำเภอหนองหญ้าไซ ประกอบด้วยที่ว่าการอำเภอหนองหญ้าไซ และทุกส่วนราชการของอำเภอ สถานีตำรวจภูธรหนองหญ้าไซ สถานบริการสาธารณสุข จนได้รับป้ายทอง 5 ส. ดีเด่นระดับประเทศทั้งเครือข่าย
  • เครือข่ายโรงพยาบาลในการทำงานคุณภาพ หรือเรียกว่า
    HNQA โดยโรงพยาบาลที่ร่วมเป็นเครือข่ายมาทำมาตรฐานร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันประเมินคุณภาพแต่ละแห่ง จนได้รับรางวัลคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขทั้งเครือข่าย

เครือข่ายบริการปฐมภูมิอำเภอหนองหญ้าไซ ร่วมกัน
พัฒนาคุณภาพ 5 ส การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง การพัฒนามาตรฐานศูนย์สุขภาพชุมชน จนสามารถผ่านมาตรฐานทุกหน่วยงานภายในระยะเวลา 1 ปีเศษ
วิธีการทำงานแบบเครือข่าย มีขั้นตอนเป็นระยะ
- ระยะก่อรูป เป็นการเริ่มรวมตัวกันด้วยเป้าหมายร่วมกัน ประสานแนวคิดทำความเข้าใจว่าจะดำเนินการอย่างไร
- ระยะขับเคลื่อน เน้นความสัมพันธ์ การมีส่วนร่วมในการร่วมกันดำเนินการสู่เป้าหมาย
- ระยะขยายตัว มีการเรียนรู้ ประเมิน ปรับปรุงพัฒนา สร้างสิ่งที่มีคุณค่าร่วมกัน จนขยายแนวคิด หรือขยายตัวเพิ่มสมาชิก หรือขยายงานกิจกรรมมากขึ้น

บทเรียนที่ได้รับจากการทำงานแบบเครือข่าย
1. การทำงานแบบบูรณาการหลาย ๆ ด้านเข้าด้วยกัน
2. ได้แนวคิดที่หลากหลาย นำไปสู่นวตกรรมหรือสิ่งดี ๆ
3. ทุกปัญหา และทุกอุปสรรค มีทางออกเสมอเมื่อร่วมกันเป็นเครือข่าย
4. การเรียนรู้ที่หลากหลาย และไม่มีวันสิ้นสุด

การใช้ประโยชน์จากเครื่องมือของสำนักพัฒนาระบบริการสุขภาพ
ใช้การจัดการเชิงกลยุทธ์โดยการใช้เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานประจำเครือข่ายโรงพยาบาล (HNQA) นอกจากนี้ยังใช้บัญชีต้นทุนกิจกรรม (ABC)
เป้าหมายและแผนงานในอนาคต
เครือข่ายบริการปฐมภูมิอำเภอหนองหญ้าไซ จะใช้เกณฑ์มาตรฐานบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) มาใช้ในการประเมินและวางแผนยุทธศาสตร์ของงานสาธารณสุขอำเภอหนองหญ้าไซ ภายใต้เกณฑ์มาตรฐาน Primary Care Accredit (PCA) เป็นการทำงานทั้งเครือข่ายเพื่อการทำงานด้านสาธารณสุขในทุกมิติ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในเชิงรุกมากกว่า ปัจจุบันกำลังเริ่มดำเนินการเพื่อความมีประสิทธิภาพของเครือข่าย รวมทั้งเป็นการทำงานแบบบูรณาการ เพื่อความเข้มแข็งขององค์การให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน

ทางเลือก ทางรอด ในยุควิกฤติทรัพยากร
ด้วยการบริหารเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
(Stakeholder Management)


โดย อาจารย์ศุภชัย เมืองรักษ์
ผู้อำนวยการฝ่ายปรึกษาแนะนำด้านการจัดการองค์กร
สถาบันเพิ่ผลผลิตแห่งชาติ




การบริหารองค์กรในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายๆของทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติอีกต่อไป โดยเฉพาะในภาคราชการที่มีข้อจำกัดทั้งในด้านทรัพยากร บุคลากร เงื่อนไข นโยบาย กฏระเบียบ รวมทั้งความคาดหวังของประชาชนอีกด้วย ความอยู่รอดยั่งยืนขององค์กรจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ทั้งในด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธี
คำตอบอาจศึกษาได้จากวิวัฒนาการของการจัดการ ที่มีนักวิชาการอย่าง ดร.สุวิทย์ เมฆิษทรีย์ ได้ชี้ไว้ว่าในอดีตการจัดการเป็นแบบ Make & Sale คือผู้ผลิตก็ทำหน้าที่ผลิต ผู้ซื้อมีหน้าที่ซื้อสินค้าหรือบริการเท่าที่มีอยู่ ต่อมาจึงปรับตัวเป็นการจัดการแบบ Sense & Respond คือผู้ผลิตให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่มมากขึ้น มีการตอบสนองความต้องการแบบเฉพาะเจาะจงรายกลุ่มด้วย และในอนาคตน่าจะเป็นการจัดการแบบ Care & Share คือเน้นการมีส่วนร่วม การสร้างเครือข่าย สร้างนวัตกรรมร่วมกันทั้งผู้ผลิตและลูกค้า เป็นการสร้างความภักดีและให้สำคัญซึ่งกันและกัน
ในรูปแบบ Care & Share นี้ นับได้ว่าเป็นทางออกที่น่าสนใจกับระบบการบริหารจัดการภาครัฐทีเดียว เพราะโดยหลักการแล้วระบบราชการถูกกำหนดให้ทำหน้าที่บริการประชาชน โดยเน้นการทำงานแบบเครือข่ายเชื่อมโยงในทุกภาคส่วน ซึ่งความสำเร็จของงานนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการเครือข่ายภาคีได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลหรือไม่ เพราะพันธกิจที่รับผิดชอบนั้นทำหน่วยงานเดียวตามลำพังย่อมสำเร็จผลอย่างยั่งยืนได้ยาก
เครื่องมือการจัดการที่เหมาะสมกับหลักการนี้คือ การบริหารเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร (Stakeholder Management) เพราะหน่วยราชการนั้นมีระบบเครือข่ายหรือสายโซ่คุณค่า(Value Chain) ที่กว้างขวางครอบคลุมกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อันหลากหลายและมีศักยภาพที่ทำให้พันธกิจขององค์กรบรรลุผลสำเร็จได้อย่างยั่งยืนถ้ามีการจัดการที่ดี แต่ในทางกลับกัน หากมีการจัดการที่ไม่รอบคอบก็อาจทำให้งานเสียหายได้เช่นกัน
กระบวนการในการจัดการนี้มีขั้นตอนสำคัญ 8 ขั้นตอนคือ
1. การจำแนกกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
2. การกำหนดสถานะบทบาทความร่วมมือระหว่างกัน
3. การวิเคราะห์ถึงผลประโยชน์ความต้องการหลักของแต่ละกลุ่ม
4. การประเมินอำนาจการต่อรองที่มีกับองค์กรของแต่ละกลุ่ม
5. การกำหนดความรับผิดชอบขององค์กรต่อกลุ่มต่างๆ
6. การวางระบบการติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงในแต่ละกลุ่ม
7. การกำหนดกลยุทธ์ในการผลักดันงาน
8. การติดตามประเมินผลและยกระดับความร่วมมือให้ก้าวหน้าขึ้น

ในการบริหารเครือข่ายนั้น ประเด็นที่สำคัญประการหนึ่งคือ การกำหนดสถานะบทบาทระหว่างองค์กรกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ว่าใครจะมีบทบาทร่วมกันได้อย่างเหมาะสมอย่างไร ในหลายกรณีจะพบว่า เราไม่มีความพร้อมพอ แต่จำเป็นต้องให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ สิ่งที่เราต้องพิจารณาคือ เราควรจะมีบทบาทใดจึงจะทำให้งานสำเร็จได้ ต่อไปนี้เป็นแผนผังบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 6 ประเภท





ผู้เกี่ยวข้องอื่นในการกำหนดแผนงานโครงการนั้น ควรที่จะมีการกำหนดกระบวนการบริหารเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อโครงการนั้นๆอย่างเป็นระบบ เพื่อจะเป็นหนทางในการจัดการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะเราอาจมีบทบาทหลักเป็นผู้ผลักดันวางแผน (Driver) แม้ว่าขาดคนและงบประมาณ แต่สามารถประสานให้นักวิชาการผู้ชำนาญการ (Influencer) ช่วยเราชี้แจงผู้มีอำนาจตัดสินใจ (Sponsor) ขององค์กรที่มีความพร้อมด้านงบประมาณให้เห็นด้วยกับโครงการสนับสนุนงบได้ หรือ อาจประสานร่วมมือกับองค์กรอื่น (Agent) ที่มีภาระกิจที่สอดคล้องกับงานในโครงการ ให้มีส่วนร่วมกระทำการร่วมกับเราหรือแทนเราดดยทุกฝ่ายได้ประโยชน์ หรืออาจให้ผู้รับประโยชน์(Target) เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติ หรือแม้แต่กลุ่มเกี่ยวข้องอื่นที่ได้ผลประโยชน์โดยอ้อมจากโครงการ (Other Constituent) ก็สามารถประสานให้เข้ามาร่วมมือได้เช่นกัน ซึ่งวิธีการจัดการนั้นมีหลากหลายวิธี แปลว่าปัญหาอุปสรรคที่เผชิญหน้าเราอยู่นั้นยังมีทางออก หนทางแก้ไขเสมอขึ้นกับ ทักษะความรู้ในการบริหารของเรานั่นเอง